เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 1. อานิสังสวรรค 6. สมาธิสูตร
ท่านพระอานนท์ทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีได้อย่างไร การที่ภิกษุ
ได้สมาธิโดยไม่ต้องมีสัญญาในธาตุดินว่าเป็นธาตุดิน ในธาตุน้ำว่าเป็นธาตุน้ำ ใน
ธาตุไฟว่าเป็นธาตุไฟ ในธาตุลมว่าเป็นธาตุลม ในอากาสานัญจายตนฌานว่าเป็น
อากาสานัญจายตนฌาน ในวิญญาณัญจายตนฌานว่าเป็นวิญญาณัญจายตน-
ฌาน ในอากิญจัญญายนตฌานว่าเป็นอากิญจัญญายตนฌาน ในเนวสัญญานา-
สัญญายตนฌานว่าเป็นเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ในโลกนี้ว่าเป็นโลกนี้ ในโลก
หน้าว่าเป็นโลกหน้า แต่ต้องมีสัญญา”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีสัญญา
อย่างนี้ว่า ภาวะที่สงบ ประณีต คือ ความระงับสังขารทั้งปวง ความสละคืน
อุปธิกิเลสทั้งปวง ความสิ้นไปแห่งตัณหา ความคลายกำหนัด ความดับ นิพพาน1
อานนท์ มีได้อย่างนี้แล การที่ภิกษุได้สมาธิโดยไม่ต้องมีสัญญาในธาตุดินว่าเป็นธาตุ
ดิน ในธาตุน้ำว่าเป็นธาตุน้ำ ในธาตุไฟว่าเป็นธาตุไฟ ในธาตุลมว่าเป็นธาตุลม ใน
อากาสานัญจายตนฌานว่าเป็นอากาสานัญจายตนฌาน ในวิญญาณัญจายตนฌาน
ว่าเป็นวิญญาณัญจายตนฌาน ในอากิญจัญญายตนฌานว่าเป็นอากิญจัญญายตน-
ฌาน ในเนวสัญญานาสัญญายตนฌานว่าเป็นเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ใน
โลกนี้ว่าเป็นโลกนี้ ในโลกหน้าว่าเป็นโลกหน้า แต่ต้องมีสัญญา”
สมาธิสูตรที่ 6 จบ

เชิงอรรถ :
1 คำว่า “ภาวะที่สงบประณีต คือ ความระงับสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิกิเลสทั้งปวง ความสิ้นไปแห่ง
ตัณหา ความคลายกำหนัด ความดับ และนิพพาน” ทั้งหมดนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสมุ่งแสดงถึงสมาธิใน
ผลสมาบัติ (องฺ.ทสก.อ. 3/6/319)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :10 }